วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เกาะรังใหญ่ จังหวัดภูเก็ต


เกาะรังใหญ่ เป็นเกาะเล็กๆที่ค่อนข้างมีความเงียบสงบมาก โดยเกาะนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต ที่นี่น้ำใสไร้มลภาวะ หาดทรายขาวบริสุทธิ์เงียบสงบ ใต้ทะเลที่เกาะนี้มีฟาร์มไข่มุก ด้วยวิทยาการก้าวหน้าคนสามารถเลี้ยงมุกได้ไม่แพ้ธรรมชาติเกาะรังใหญ่มีการเพาะเลี้ยงหอยมุกมานานแล้ว
ปัจจุบันปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยการทำทัวร์เรือหรือเช่าเหมาเรือจากภูเก็ตไปเที่ยวชมฟาร์มไข่มุกแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ชมการเลี้ยงหอยมุก การใส่นิวเคลียสเข้าไปในตัวหอย เพื่อให้หอยขับสารเคมีออกมาเคลือบจนกลายเป็นไข่มุกที่สวยงาม นอกจากนี้ก็มีเครื่องประดับที่ทำจากไข่มุกจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย 
 การเดินทางไปหมู่เกาะรัง ส่วนใหญ่จะเป็นแพคเกจท่องเที่ยวที่ทางรีสอร์ทที่ตั้งอยู่บนเกาะกูด เกาะช้าง และเกาะหมาก โดยจะเป็นแพคเกจแบบไปเช้าเย็นกลับ หากคนสนใจมาที่เกาะรังสามารถซื้อแพคเกจจากที่พักได้เลย จะสะดวกที่สุด 
 เกาะรังใหญ่ : “ไข่มุกอันดามันคือ สมญานามที่ใช้เรียกขาน เกาะภูเก็ตเกาะซึ่งมีฐานะเป็นจังหวัดและเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักเกาะภูเก็ตในฐานะเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่มีหาดทรายสวยงาม น้ำทะเลสีมรกต มีที่พัก ร้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆมากมายพร้อมสรรพ รวมทั้งยังเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายไข่มุกแห่งสำคัญของเมืองไทยอีกด้วย (แต่ปัจจุบันไข่มุกส่วนใหญ่ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ตามร้านขายของที่ระลึกต่าง ๆ ภายใน จ.ภูเก็ต เป็นไข่มุกนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่ไข่มุกที่ผลิตในประเทศไทยครับ) ครั้งนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จึงคิดว่าสู้อุตส่าห์มาถึง จ.ภูเก็ตทั้งที หากไม่มีการเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีความเกี่ยวพันกับไข่มุกมาให้ทุก ๆ ท่านได้รับชมรับทราบกันบ้างก็คงจะกระไรอยู่ เพราะฉะนั้นพวกเราจึงตัดสินใจเดินทางไปยัง ท่าเรือแหลมหินขึ้นเรือหัวโทงมุ่งหน้าสู่ เกาะรังใหญ่เพื่อศึกษาหาประสบการณ์และเก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับไข่มุกต่าง ๆ บนเกาะซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอดีตฟาร์มหอยมุกอันเลื่องชื่อของเมืองไทยแห่งนี้ 
 ระหว่างทางจากท่าเรือแหลมหินสู่เกาะรังใหญ่ เรือที่พวกเราโดยสารแล่นผ่าน เกาะมะพร้าวเกาะซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรมส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมของ จ.ภูเก็ต (Agro Tourism) บริเวณผืนทะเลด้านหน้าเกาะมะพร้าวแห่งนี้เต็มไปด้วยกระชังเลี้ยงปลาและกุ้งมังกรของชาวบ้านซึ่งบางส่วนถูกดัดแปลงเป็น แพอาหารลอยน้ำหากนักท่องเที่ยวกลุ่มใดสนใจอยากลองรับประทานอาหารทะเลสด ๆ จากกระชังก็สามารถติดต่อเจ้าของกระชังต่าง ๆได้จากเบอร์โทรศัพท์ตามป้ายโฆษณาบริเวณท่าเรือแหลมหิน เจ้าของกระชังจะนำเรือหัวโทงมารับไปยังแพอาหารลอยน้ำของตนเองโดยไม่ต้องเสียค่าเรือเพิ่มเติมใด ๆนอกเหนือไปจากค่าอาหารที่สั่งมารับประทานตามปกติ (ราคาอาหารต่าง ๆ บนแพอาหารลอยน้ำส่วนใหญ่จะค่อนข้างแพงใกล้เคียงกับราคาอาหารตามร้านหรู ๆ บริเวณหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นหากคุณหวังว่าการมารับประทานอาหารทะเลสดจากกระชังเลี้ยงของชาวบ้านจะช่วยให้คุณประหยัดเงินได้ล่ะก็.....ขอบอกเลยว่าคิดผิดครับ..... แต่ข้อดีของการมารับประทานอาหารบนแพลอยน้ำบริเวณหน้าเกาะมะพร้าวนี้ ก็คือ คุณจะได้โยกเยกตัวไปตามท่วงทำนองแห่งท้องทะเลในขณะที่ตักกุ้ง ปู ปลา หมึกซึ่งปรุงสด ๆเข้าปาก ท่ามกลางบรรยากาศเหนือระดับในสายลม เสียงคลื่น และกลิ่นไอทะเล.....เสียดายที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมมีเวลาในการเก็บข้อมูลจำกัดจึงทำได้แค่แวะมาสำรวจราคาอาหารและชมทิวทัศน์โดยรอบแพอาหารเหล่านี้เท่านั้น)
 เพียงระยะเวลาแค่ไม่เกิน 20 นาที เรือหัวโทงก็พาพวกเรามาถึงชายหาดด้านหน้าเกาะรังใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของ รีสอร์ทเกาะรังใหญ่ หรือ รังใหญ่ไอส์แลนด์รีสอร์ท (Rangyai Island Resort)รีสอร์ทเพียงแห่งเดียวบนเกาะนี้ ในอดีตรีสอร์ทเกาะรังใหญ่เคยเป็นฟาร์มหอยมุกที่มีชื่อเสียง มีดารา นักร้อง และคนดังหลาย ๆคนเดินทางมาเยี่ยมเยียนอยู่เป็นระยะ ๆ มีร้านจำหน่ายไข่มุกหลากระดับหลายราคาให้เลือกซื้อหา แต่ในปัจจุบันทางรีสอร์ทได้เปลี่ยนนโยบายนำเข้าไข่มุกจากต่างประเทศมาจำหน่ายเป็นหลักแทนที่จะเพาะเลี้ยงหอยมุกในฟาร์มเองเหมือนเช่นเคย เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปโดยรอบเกาะรังใหญ่ทำให้การเพาะเลี้ยงหอยมุกไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนสักเท่าไหร่นัก ปัจจุบันท้องทะเลด้านหน้ารีสอร์ทเกาะรังใหญ่จึงเหลือเพียงแค่ กระชังเพาะเลี้ยงหอยมุกสาธิตเล็ก ๆ 1  ใบลอยอยู่เท่านั้น นักท่องเที่ยวที่สนใจอยากชมหอยมุกตัวเป็น ๆ สามารถพายเรือคายักจากชายฝั่งไปยังกระชังสาธิตดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าเรือใด ๆเพิ่มเติม (นักท่องเที่ยวที่พักแรมบนรีสอร์ทเกาะรังใหญ่สามารถติดต่อขอยืมเสื้อชูชีพได้ฟรีบริเวณเคาน์เตอร์บริการของทางรีสอร์ท ส่วนนักท่องเที่ยวซึ่งซื้อทัวร์เรือเร็ววันเดียวเที่ยวเกาะรังใหญ่ให้ใส่เสื้อชูชีพจากเรือลงมาบนเกาะ แล้วนำเรือคายักจากชายฝั่งพายไปยังกระชังสาธิตได้เลยครับ) ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมมีคำแนะนำเล็ก ๆน้อย ๆสำหรับผู้ที่ต้องการพายเรือคายักไปชมกระชังเพาะเลี้ยงหอยมุกสาธิต คือ ต้องผูกเรือคายักไว้กับเชือกรอบ ๆกระชังให้ดีก่อนขึ้นไปบนกระชังสาธิตเพื่อป้องกันคลื่นซัดเรือลอยบ๊าย.....บายหายลับไป และต้องระวังบรรดาเพรียงทะเลที่เกาะอยู่ตามเชือกและโครงสร้างต่าง ๆของกระชังให้ดีเพราะท่านอาจโดนเปลือกของเพรียงเหล่านี้บาดได้ ส่วนนักท่องเที่ยวท่านใดที่อยากจะทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงหอยมุก กระบวนการเก็บเกี่ยวมุกจากตัวหอย และกรรมวิธีเลือกไข่มุกแท้อย่างชาญฉลาด ให้ลองสอบถามกับเจ้าหน้าที่ภายในร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหอยมุกซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณของรีสอร์ทเกาะรังใหญ่ดู เจ้าหน้าที่จะพาท่านไปชมตู้เพาะเลี้ยงหอยมุกสาธิต อุปกรณ์เก็บเกี่ยวไข่มุกจากตัวหอย พร้อมทั้งอธิบายความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับหอยมุกและไข่มุกให้ท่านฟังอย่างเต็มใจ (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมจะขอกล่าวถึงเรื่องราวของการเพาะเลี้ยงหอยมุก การเก็บเกี่ยวไข่มุกจากตัวหอย และวิธีการเลือกไข่มุกแท้ในหน้าสุดท้ายของบทความชิ้นนี้ แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นพวกเราขออนุญาตพาทุก ๆท่านไปทำความรู้จักกับภูมิทัศน์และบรรยากาศโดยรอบเกาะรังใหญ่กันก่อนครับ)
      บนเกาะรังใหญ่มีหาดทรายที่สามารถลงเล่นน้ำทะเลได้อยู่ 2 ด้าน คือ ชายหาดด้านทิศตะวันตกและชายหาดด้านทิศตะวันออก ชายหาดทั้งสองด้านนี้ไม่มีชื่อเรียกจำเพาะใด ๆ (ทีมงานลองสอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รีสอร์ทเกาะรังใหญ่ถึงเรื่องชื่อของชายหาดทั้งสองด้านนี้แล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีชื่อเรียกจำเพาะใด ๆแต่เรียกรวม ๆ กันไปว่าชายหาดเกาะรังใหญ่ครับ) ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมจึงขอถือวิสาสะเรียกชื่อชายหาดด้านทิศตะวันตกว่า หาดเกาะรังใหญ่และเรียกชายหาดด้านทิศตะวันออกว่า หาดเล็กเพื่อความสะดวกในการสื่อสารข้อมูลภายในบทความชิ้นนี้ให้ทุก ๆ ท่านได้รับทราบตรงกัน
หาดเกาะรังใหญ่หรือ หาดตะวันตกเป็นชายหาดที่มีความสวยงามมากที่สุดบนเกาะรังใหญ่ ชายหาดแห่งนี้มีแนวทรายเนื้อละเอียดปนเศษเปลือกหอยและกรวดหยาบสีขาวอมน้ำตาลอ่อนทอดตัวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ แนวหาดทรายโค้งออกจากตัวเกาะลักษณะคล้ายกับเลนส์นูนยาวเกือบ 1 กม. ริมชายหาดมีเตียงผ้าใบกางไว้ใต้ร่มไม้ให้นักท่องเที่ยวได้นอนเอนหลังผ่อนคลาย ในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งน้ำทะเลบริเวณหน้าหาดเกาะรังใหญ่จะเป็นสีฟ้าอมเขียวอ่อนสวยงาม แม้ว่าความใสของน้ำทะเลบริเวณนี้จะด้อยกว่าความใสของน้ำทะเลโดยรอบเกาะราชาใหญ่และเกาะเฮ (กรุณาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในหัวข้อท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต เกาะราชาใหญ่และ เกาะเฮครับ) อีกทั้งยังไม่สามารถดำน้ำดูปะการังได้ดังเช่นเกาะทั้งสองแห่งข้างต้น แต่ก็ถือว่าน้ำทะเลโดยรอบเกาะรังใหญ่ยังคงมีความใสมากกว่าน้ำทะเลหน้าชายหาดชื่อดังต่าง ๆ บนเกาะภูเก็ตพอสมควรซึ่งทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมลงความเห็นว่า หากคุณต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพักโรงแรมดี ๆ ติดชายหาดดัง ๆบนฝั่งเกาะภูเก็ตคืนละ 2,000 กว่าบาทขึ้นไปแล้วล่ะก็ การเลือกมาพักค้างแรมบนเกาะรังใหญ่น่าจะคุ้มค่ากว่ากันเยอะ (แม้ว่าหาดเกาะรังใหญ่จะมีความสวยงามมากกว่าชายหาดชื่อดังต่าง ๆบนเกาะภูเก็ต แต่ก็มีข้อด้อยคือตัวหาดเกาะรังใหญ่หันหน้ารับกระแสคลื่นลมซึ่งพัดพาเศษกิ่งไม้/ขยะมาจากรอบ ๆเกาะมะพร้าวและชายฝั่งเกาะภูเก็ต ทำให้ในช่วงเช้าจะมีเศษกิ่งไม้/ขยะเกยตื้นอยู่หน้าหาดเป็นจำนวนมาก พอถึงช่วงสายพนักงานทำความสะอาดของรีสอร์ทเกาะรังใหญ่จะมาเก็บกวาดเศษกิ่งไม้และขยะเหล่านี้จนชายหาดเกาะรังใหญ่สะอาดดังเดิมอีกครั้ง)
        จากชายหาดเกาะรังใหญ่เพียงเดินผ่านบริเวณของรีสอร์ทไปทางด้านทิศตะวันออกไม่เกิน 500 เมตรจะพบกับ หาดเล็กหาดทรายอีกแห่งหนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำทะเลได้ หาดเล็กมีชายหาดโค้งลักษณะคล้ายกับเลนส์เว้าโอบล้อมขนาบด้วยแหลม 2 ข้าง มีไม้ชายเลนจำพวกโกงกาง แสม ขึ้นอยู่ตามแนวชายหาดเป็นหย่อม ๆ หาดทรายเป็นสีน้ำตาลอ่อนคล้ายสีเปลือกไข่ มีกรวดหยาบและเศษเปลือกหอยปะปนอยู่เช่นเดียวกันกับหาดเกาะรังใหญ่ แต่ด้วยเหตุที่หาดเล็กถูกโอบขนาบด้วยแหลม 2 ข้างทำให้คลื่นลมที่ซัดเข้ามาในบริเวณนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าคลื่นลมบริเวณหาดเกาะรังใหญ่จึงทำให้น้ำทะเลบริเวณหน้าหาดเล็กมีความใสมากกว่า นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นปูทะเลซึ่งเดินหากินอยู่ตามพื้นทรายใต้น้ำได้โดยง่าย บรรยากาศบริเวณหาดเล็กนี้มีความสงบและมีความเป็นส่วนตัวสูงเนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนมากนิยมเล่นน้ำอยู่แต่เฉพาะบริเวณหาดเกาะรังใหญ่เท่านั้น (บริเวณหาดเล็กนี้ไม่มีเตียงผ้าใบไว้คอยให้บริการนักท่องเที่ยวและไม่มีเจ้าหน้าที่ของรีสอร์ทเกาะรังใหญ่มาเก็บกวาดทำความสะอาดแนวชายหาดจึงทำให้มีเศษกิ่งไม้/เศษขยะกระจัดกระจายอยู่บริเวณหาดเล็กนี้พอสมควร)


ขอขอบคุณ
http://travel.thaiza.com/เที่ยวเกาะรังใหญ่-ภูเก็ต/247343
http://www.tourtooktee.com/แพ็คเกจทัวร์/ppk-03-แพ็คเกจทัวร์ภูเก็ต-เกาะรังใหญ่-ฟาร์มหอยมุก
http://xn--12c5c4ch2ewa.blogspot.com/2013/01/blog-post_23.html

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

เกาะยาว จังหวัดพังงา

เกาะยาว  จังหวัดพังงา


"เกาะยาว" มีพื้นที่ประมาณ 137.6 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงาประกอบด้วยเกาะสองเกาะคือ "เกาะยาวน้อย" และ "เกาะยาวใหญ่" นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กเกาะน้อยล้อมรอบอยู่มากมาย และที่สำคัญ "เกาะยาว" แห่งนี้เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความสงบ ซึ่งถ้าใครที่ชื่นชอบธรรมชาติ รักสงบมาที่นี่รับรองไม่ผิดหวังแน่นอนค่ะ 

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่เกาะยาวมีมากมาย โดยจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจก็คือ   สถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะยาวน้อย  ได้แก่

หาดป่าทราย
เป็นหาดที่มีทรายขาวสะอาด บรรยากาศร่มรื่น สามารถลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย และชมวิวทิวทัศน์ของเกาะต่างๆ ในจังหวัดกระบี่ได้ หาดป่าทรายนี้ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะยาว บนเกาะยาวน้อย ประมาณ 7 กิโลเมตร

หาดท่าเขา
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะยาวน้อยประมาณ  5 กิโลเมตร เป็นหาดทรายประกอบด้วยโขดหิน และก้อนหินเล็กๆ หลากสี หลากลาย ดูสวยงามไปอีกแบบ ห่างจากฝั่งไปเล็กน้อยจะมีเกาะนก ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ที่สามารถเดินข้ามไปมาระหว่างกันได้เมื่อน้ำแห้ง บนเกาะมีไม้ป่าและกล้วยไม้ขึ้นอยู่ทั่วไป 

บ่อน้ำจืดในทะเล
เป็นบ่อน้ำที่ตั้งอยู่หาดบ้านอันเป้า ทางทิศเหนือของเกาะยาวน้อย มีลักษณะเป็นบ่อตาน้ำตื้น 4 บ่อ ในช่วงเวลาน้ำขึ้น น้ำทะเลจะเข้าท่วมบ่อจนเป็นน้ำเค็ม แต่เมื่อน้ำลง บ่อน้ำจะโผล่ขึ้นมา ซึ่งน้ำในบ่อจะจืดสนิท และสามารถดื่มได้

ต้นโพธิ์ทะเลยักษ์
เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่วัดรอบโคนต้นได้ประมาณ 32 เมตร ตั้งอยู่ที่อ่าวเคียน ทิศเหนือของเกาะยาวเหนือ ใกล้กับเกาะเหลากูดูซึ่งมีปะการังน้ำลึกที่สวยที่สุดในอ่าวพังงา

ทุ่งปะการัง
เป็นปะการังที่สามารถดูได้โดยไม่ต้องดำน้ำลงไป เพราะในช่วงที่น้ำลง ปะการังเหล่านี้จะโผล่ขึ้นมาให้เห็นมากมาย ทั้งปะการังเขากวาง ปะการังสมอง ฯลฯ ในหนึ่งเดือนสามารถชมได้ประมาณ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 4 วันเท่านั้นในช่วงน้ำลง

แผ่นดินผุดในทะเล
อยู่ระหว่างอ่าวพังงาส่วนที่ใกล้กับเกาะยาวน้อย ในช่วงน้ำลงจะมีแผ่นดินขนาดใหญ่โผล่ขึ้นกลางทะเล มีลักษณะเป็นแผ่นดินผืนยาวที่ยื่นออกมาจากเกาะกลางทะเล ดูคล้ายถนนยาวหลายกิโลเมตร


สถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะยาวใหญ่  ได้แก่

อ่าวคลองสน
เป็นหาดทรายขาวสะอาดแวดล้อมไปด้วยทิวสน ด้านซ้ายจะเป็นโขดหินเล็กๆ ที่มีสีสันสวยงาม ใครที่สนใจลงเล่นน้ำชมปะการังก็แวะมาที่อ่าวคลองสนได้เลย นอกจากนี้หากเป็นช่วงน้ำลดจะสามารถหาหอยต่างๆ ได้บริเวณชายหาด

อ่าวล้าน
เป็นหาดสวยงาม สามารถลงเล่นน้ำได้เช่นกันค่ะ แต่ทางทิศเหนือของอ่าวจะเป็นหน้าผาสูงชัน น้ำลึก และถ้าใครต้องการมาเที่ยวอ่าวล้าน แนะนำให้นั่งเรือมาค่ะ เพราะการเดินทางทางบกไม่ค่อยสะดวกนัก

แหลมหาด
ที่แหลมหาดจะมีสวนมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์และป่าสนขึ้นรายล้อมหาดทรายขาว ได้บรรยากาศไปอีกแบบ สามารถเดินทางมาได้ทั้งทางบกและทางน้ำ

เกาะโละปาแรด
เป็นหาดทรายที่มีสวนมะพร้าวขึ้นอยู่รายรอบ สามารถมองเห็นหาดทรายขาวยาวเหยียดจนสุดทาง สามารถลงเล่นน้ำทะเลได้ในทางตอนเหนือทุกเวลา

อ่าวตีกุด
เป็นอ่าวที่มีหาดทรายขาวสะอาด มีต้นสนขึ้นดูร่มรื่น ทางทิศเหนือของอ่าวมีแหลมที่สามารถชมวิวทิวทัศน์อันสวยงามได้

อ่าวหินกอง
ตั้งอยู่บนเกาะยาวใหญ่ เป็นหาดที่ร่มรื่นไปด้วยป่าไม้เคียม บริเวณนี้ไม่เหมาะกับการลงเล่นน้ำ และความพิเศษของที่นี่คือโดยรอบจะมีลูกปลากระเบนอาศัยอยู่มากมาย และยังมีชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมประกอบอาชีพหาปลาอยู่

อ่าวทราย 
เป็นหาดทรายขาวละเอียด มีโขดหินสวยงาม สามารถลงเล่นน้ำได้

แหลมนกออก
เป็นหาดทรายที่มีโขดหิน ก้อนหินหลากสีสัน สามารถลงเล่นน้ำได้ 


ที่พักบนเกาะยาว
สำหรับใครที่อยากมาพักผ่อนหย่อนใจที่เกาะยาวละก็ ที่นี่มีที่พักหลายแห่งให้เลือกสรรตามกำลังทุนทรัพย์ในกระเป๋า เพราะห้องพักมีตั้งแต่ราคาหลักพันจนถึงระดับหรูหราแตะหลักแสนเลยทีเดียว หรือหากใครที่ชื่นชอบที่จะสัมผัสวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน จะเลือกพักแบบโฮมสเตย์ เขาก็จัดไว้บริการเช่นกัน ซึ่งก็จะมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจให้ทำ อย่างเช่น ออกไปจับปลา จับหอยแครง กรีดยาง ขี่จักรยานชมบรรยากาศศึกษาเส้นทางธรรมชาติ

การเดินทางไปเกาะยาว
การเดินทางไปเกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่สามารถมาได้หลายเส้นทาง แต่หากเริ่มต้นที่จังหวัดภูเก็ตจะสะดวกที่สุด
การเดินทางไปเกาะยาวใหญ่  หากเดินทางมาจากภูเก็ตให้โดยสารรถประจำทางสายภูเก็ต-อ่าวปอและป่าคลอก มาจากตลาดสดเทศบาลเมืองภูเก็ต จากนั้นนั่งเรือต่อไปยังเกาะยาวใหญ่ โดยขาไปมีเรือออกจากท่าเรือเทียนสิน สายจังหวัดภูเก็ต-เกาะยาวใหญ่ ออกเวลา 10.00 น. และ 14.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ถึงเกาะยาวใหญ่ ส่วนขากลับให้นั่งเรือจากท่าเรือโล๊ะจาก-ท่าเรือเทียนสิน ออกเวลา 12.00 น. เสียค่าโดยสาร 50 บาท  หรือหากต้องการโดยสารจากเกาะยาวน้อยไปยังเกาะยาวใหญ่ ให้ขึ้นเรือหางยาวที่ท่าเรือมาเนาะ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที
การเดินทางไปเกาะยาวน้อย  หากเดินทางจากตัวเมืองจังหวัดพังงา ให้มาลงเรือที่ท่าด่านศุลกากร ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง สายท่าด่านศุลกากร-เกาะยาวน้อย (จะไปลงที่ท่าเรือมาเนาะหรือท่าเรือสุขาภิบาล ขึ้นอยู่กับน้ำขึ้นน้ำลง) เรือออกวันละ 1 เที่ยว เวลา 12.00 น. ส่วนเที่ยวกลับให้นั่งเรือสายเกาะยาวน้อย-ท่าเรือท่าด่านศุลกากร เรือออกเวลา 07.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงครึ่ง ค่าโดยสารคนละ 80 บาท หรือถ้าใครมาเป็นกลุ่มใหญ่ต้องการเช่าเหมาลำ ก็สามารถเช่าเรือได้ที่ท่าเรือท่าด่านศุลกากร ราคาลำละ 1,000-1,500 บาท  เดินทางจากจังหวัดภูเก็ต ให้มาขึ้นเรือที่ท่าเรือบางโรง ที่ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง เรือสายตำบลป่าคลอก-เกาะยาวน้อย (ท่าเรือสุขาภิบาล) เรือออกวันละ 5 เที่ยว เวลา 11.00 น., 12.00 น., 13.00 น. ,14.30 น. และ 17.00 น. ส่วนเที่ยวกลับเรือออกจากเกาะยาวน้อย - ท่าเรือบางโรง เวลา 07.00 น. และ 07.30 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที ค่าโดยสารคนละ 100 บาทต่อเที่ยว หรือสามารถเช่าเรือหางยาวเหมาลำได้ในราคา 800-1,000 บาท นอกจากนี้ยังมีเรือเร็วหลายขนาดให้เช่าในราคา 4,000-6,000 บาทต่อเที่ยวด้วย  เดินทางจากจังหวัดกระบี่ ขาไปให้ขึ้นเรือจากท่าเรือบ้านท่าเลน อำเภอเมือง สายท่าเรือท่าเลน-เกาะยาวน้อย เรือออกเวลา 12.00 น., 13.00 น. (เรือจอดที่ท่าเรือท่าเขา) และ 15.00 น. (เรือจอดท่าเรือมาเนาะ) ส่วนขากลับนั่งเรือจากเกาะยาวน้อย-ท่าเรือท่าเลน เรือออกวันละ 2 เที่ยวคือ เวลา 07.30 น. (เรือจอดท่าเรือท่าเขา) และเวลา 08.30 น. (เรือจอดท่าเรือมาเนาะ) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ค่าโดยสารเที่ยวละ 50 บาท และจากท่าเรือท่าเลน สามารถนั่งรถสองแถวมาขึ้นรถโดยสารประจำทางที่สถานีขนส่งกระบี่ได้ ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 30 บาท



ขอขอบคุณ
http://www.wikalenda.com/เกาะยาวน้อย-091106.html
http://www.เกาะยาว.com
http://hotelteepak.com/เกาะยาว.html


วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

เกาะไก่ จังหวัดกระบี่

เกาะไก่  จังหวัดกระบี่


เกาะไก่  อยู่ในทะเลกระบี่หน้าอ่าวนาง ห่างจากฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตร อยู่ใกล้ๆ กับเกาะปอดะห่างไปทางทิศใต้เล็กน้อย เกาะไก่เป็นหนึ่งในสามเกาะที่ทำให้เกิดสันทรายที่เราเรียกว่า "ทะเลแหวก " สันหทรายด้านทิศตะวันตกที่มีสันฐานมาจากเกาะใหญ่นั่นคือเกาะไก่
ที่เรียกว่าเกาะไก่  ก็เพราะว่าทางด้านปลายสุดของเกาะมีหินแหลมๆ เมื่อมองขึ้นไปแล้วคล้ายคอไก่ บ้างก็ว่าคล้ายๆ ไก่งวง จะคล้ายอะไรก็แล้วแต่คนมองจะจินตนาการไปกัน
จุดขายของเกาะไก่  ก็คือหินรูปคอไก่นี่แหล่ะที่คนนิยมไปชมกัน แต่อย่าเพิ่งคิดว่า เอ... แค่หินคอไก่อันเดียวทำไมต้องมัวเสียเวลานั่งเรือไปชมกันด้วย ฟังเหตุผลแล้วจะถึงบางอ้อร้องอ๋อเข้าใจดี เกาะไก่คือส่วนหนึ่งของทะเลแหวก อยู่ใกล้กับเกาะปอดะ เป็นทางผ่านของเรือที่พานักท่องเที่ยวไปท่องทะเลกระบี่ แล้วอีกอย่างทะเลแหวกนั้นบางครั้งมันไม่แหวก สาเหตุที่มันไม่ยอมแหวกก็เพราะน้ำยังไม่ลด ครั้นเรือท่องเที่ยวจะพานักท่องเที่ยวนั่งรอก็ใช่ที่ ดังนั้นจึงต้องพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำชมปะการังเพื่อรอเวลาให้ทะเลแหวก จุดที่ดำน้ำใกล้ๆ ของย่านนี้มีอยู่จุดเดียวคือด้านหลังเกาะไก่ เมื่อเสร็จจากกิจกรรมดำน้ำ เรือก็ต้องวิ่งอ้อมมาทะเลแหวกซึ่งก็ต้องอ้อมหินคอไก่อันนี้แหล่ะ ดังนั้นการไปเที่ยวเกาะไก่จึงเป็นโปรแกรมตามน้ำแบบว่าผ่านๆ ไปก็ชมซะหน่อยประมาณนั้น


ขอขอบคุณ
http://www.oceansmile.com/S/Krabri/KohPoda.htm
http://www.nemotour.com/sea/Koh_kai.htm
http://www.7wondersthailand.com/wizContent.asp?wizConID=125&txtmMenu_ID=7

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกาะตะปู จังหวัดพังงา

เกาะตะปู



เกาะตะปู ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลด้านนอก ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา คิดเป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จากที่ทำการอุทยานฯตามลำคลองเกาะปันหยีจังหวัดพังงา อยู่ทางด้านเหนือในเวิ้งอ่าวของเกาะเขาพิงกัน เกาะตะปู มีลักษณะเป็นเกาะเดี่ยว รูปร่างคล้ายตะปู มีศัพท์เฉพาะทางธรณีวิทยาว่า เกาะหินโด่ง (Stack) การชมเกาะตะปูต้องชมในระยะไกลจากเรือ หรือจากสันดอนของเกาะเขาพิงกัน ไม่สามารถขึ้นไปบนเกาะได้
เกาะตาปู เป็นเขาหินปูน (Limestone) มีอายุยุคเพอร์เมียน (Permian) หรือประมาณ 295-250 ล้านปี เนื่องจากหินปูนมีคุณสมบัติสึกกร่อนจากการละลายน้ำได้ง่าย ดังนั้นเกาะต่าง ๆ ในบริเวณอ่าวพังงาจึงมีรูปร่างแปลก ๆ และมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการผุพังทำลายของเนื้อหิน
กำเนิดของเกาะตะปูมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสมัยโบราณ เดิมเกาะตะปูและเกาะเขาพิงกันด้านตะวันออกมีสภาพเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน และอยู่บนผืนแผ่นดิน การเคลื่อนไหวของเปลือกโลกในเวลาต่อมา ทำให้เกิดมีรอยเลื่อนใหญ่เป็นแนวยาวพาดผ่านพื้นที่อ่าวพังงาด้านตะวันตก เรียกว่ารอยเลื่อนคลองมะรุ่ย รอยเลื่อนนี้ทำให้เกิดรอยเลื่อนย่อย ๆ ติดตามมาดังจะเห็นได้จากรอยเลื่อนที่เขาพิงกัน รอยเลื่อน รอยแตก และรอยแยกที่พบในหินปูนเกาะตะปู นอกจากนั้น รอยเลื่อนยังทำให้เกิดการหักพังของหินขึ้นในบริเวณรอยต่อระหว่างเขาตะปูและเขาพิงกันทางด้านตะวันออก ทำให้เขาตะปูแยกออกมาเป็นเขาลูกโดด
แผ่นดินเขาตะปูและเขาพิงกันได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลที่แผ่ขยายเข้ามาท่วมในช่วงหลังสุดเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่เขาพิงกัน และเขาตะปูมีสภาพเป็นเกาะ โดยบริเวณเขาตะปูเป็นหัวแหลมยื่นออกไปในทะเล ต่อมาหัวแหลมถูกคลื่นกัดเซาะและขัดเกลา จนกระทั่งมีรูปทรงเรียวและขาดออกจากตัวเขาพิงกันตะวันออกอย่างเด่นชัด มีสภาพเป็นเกาะหินโด่ง
น้ำทะเลที่ขึ้นสูงสุดเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่ผ่านมา มีระดับสูงกว่าระดับปัจจุบันประมาณ 4 เมตร การขึ้นลงของน้ำทะเล ได้กัดเซาะเกาะตะปูให้เกิดเป็นแนวรอยน้ำเซาะหิน เว้าเข้าไปที่ระดับดังกล่าว ต่อมาน้ำทะเลลดระดับลงมาอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 2.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลใหม่ได้กัดเซาะส่วนล่างของเกาะตะปูให้เกิดเป็นรอยน้ำเซาะหินแนวใหม่ คือ ระดับที่เป็นส่วนคอดกิ่วที่สุด และเป็นบริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตเช่น หอย เพรียง เกาะอาศัยอยู่โดยรอบเมื่อได้นำซากหอยนางรมที่ติดอยู่ในแนวรอยกัดเซาะนี้ไปหาอายุโดยวิธีคาร์บอนรังสี (C14) ได้อายุประมาณ 2,620 + 50 ปี แสดงว่ารอยคอดกิ่วนี้เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลเมื่อเวลาประมาณ 2,500 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นน้ำทะเลจึงลดระดับลงมาอยู่ที่ระดับปัจจุบัน ส่วนที่คอดกิ่วที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 ปีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เกาะตะปูมีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ
เกาะตะปูมีปัญหาการพังทลาย อันเกิดจากการกัดเซาะกัดเซาะของน้ำทะเล การขุดเจาะเนื้อหินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์จำพวกหอยนางรม เพรียง ปู ฯลฯ ความแรงของคลื่นลมในฤดูมรสุม การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก เนื่องจากปฏิกิริยาเรือนกระจกอันอาจมีผลให้คลื่นลมเปลี่ยนความเร็ว และสุดท้ายคือการ ถูกรบกวนด้วยกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การจอดเรือโดยการทิ้งสมอการผูกเรือไว้รอบเกาะ รวมทั้งคลื่นจากเรือหางยาวที่วิ่งรอบเกาะ
เกาะตะปูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง จนมีภาพยนตร์ฮอลลีวูดมาถ่ายทำที่เกาะตะปูนี้ ในปี พ.ศ. 2517 ภาพยนตร์เรื่องเจมส์ บอนด์ ตอนเพชฌฆาตปืนทอง(The Man with the Golden Gun) และเกาะตะปู ยังได้รับการขนานนามอีกชื่อหนึ่งว่า "James Bond Island" อีกด้วย



ขอขอบคุณ
http://th.wikipedia.org/wiki/เกาะตะปู
http://www.paiduaykan.com/76_province/south/phangnga/jamebound-island.html

http://www.manager.co.th/Taste/viewnews.aspx?NewsID=9560000018745

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกาะบิดะ

เกาะบิดะ


เกาะบีดะหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเกาะคู่  ตั้งอยู่ห่างจากเกาะพีพีเลประมาณ  1  กิโลเมตร  มีลักษณะเป็นเกาะขนาดเล็ก  2  เกาะติดกัน  เกาะที่อยู่ทางใต้สุด  เรียกว่า  เกาะบิดะนอก  ส่วนถัดมาทางเหนือคือ  เกาะบิดะใน  คล้ายภูเขาโดดกลางทะเล  ความลึกของน้ำทะเลโดยรอบเกาะประมาณ  15  -  30  เมตร  ใต้ผิดน้ำทะเลด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออก  และทิศใต้ปกคลุมไปด้วยแนวปะการังที่ก่อตัวอย่างหนาแน่น  ปะการังมีสภาพสมบูรณ์ดี  ประกอบไปด้วย  ปะการังถ้วย  ปะการังกิ่ง  ปะการังก้อน  กัลปังหา  ฟองน้ำที่ชุกชุมไปด้วยปลาสวยงามนานาชนิด  นอกจากนี้อาจจะพบเจอเต่าหลาย ๆ สายพันธ์  ที่อาศัยอยู่รอบบริเวณด้วย


ขอขอบคุณ
http://rippleplus.com/thai/archives/1214
http://www.thai-tour.com/thai-tour/south/krabi/data/place/pic-koh-pida.htm
http://www.nakhontoday.com/board_camera/view.php?No=844


วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกาะช้าง จังหวัดระนอง

เกาะช้าง  จังหวัดระนอง



เกาะช้าง เกาะใหญ่ที่สุดของจังหวัดระนอง เป็นเกาะที่มีรูปร่างเหมือนช้างหมอบ เป็นหมู่ที่ 2 ของตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีประชากรประมาณ 250 คน ผู้ที่เข้ามาบุกเบิกบนเกาะส่วนใหญ่เป็นผู้คนที่อพยพมาจากเกาะพงัน เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนยาง สวนมะม่วงหิมพานต์ และให้บริการบังกะโลที่พัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์อยู่รอบเกาะ
ชายหาดที่สวยงาม หลายแห่งโดยเฉพาะชายด้านฝั่งตะวันตกที่หันหน้าให้กับทะเลอันดามัน มีถนนคอนกรีตเล็ก ๆ เป็นทางเดินข้ามไปฝั่งตะวันออกบริเวณอ่าวชาวเลที่อยู่อีกด้านของเกาะ และทางเหนือของเกาะที่อ่าวค้อ มีหมู่บ้านของชาวเล ที่มีวิถีชีวิตแบบชาวน้ำที่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่กับท้องทะเลของเกาะช้าง
ปัจจุบันบังกะโลบนเกาะช้างมีโทรศัพท์ใช้แล้ว ทำให้การติดต่อกับบังกะโลสะดวกมาก ต้องขอขอบคุณทางองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่นำระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 470 มาปรับใช้แบบประจำที่ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่นอกพื้นที่ ข่ายสายไม่ถึงได้ติดต่อกับโลกภายนอกได้ตลอดเวลา
การเดินทางมายังเกาะช้าง มีความสะดวกสบายพอสมควร ท่าเทียบเรือไปเกาะช้างใช้ร่วมกันกับเกาะพยาม มีซอยทางแยกซ้ายมือติดกับสถานีตำรวจปากน้ำประมาณ 250 เมตร จะเห็นท่าเรืออยู่ทางซ้ายมือมีป้ายเขียนบอกว่า ท่าเทียบเรือชาวเกาะ ปกติจะมีเรือของบังกะโลบนเกาะช้างมาคอยรอรับผู้โดยสารที่จองที่พักบนเกาะไว้ หรืออาจจะไปกับเรือของบังกะโลอื่นหากท่านไม่ได้จองที่พักไว้ เรือจะไปส่งตามบริเวณบังกะโลที่ท่านต้องการพัก เรือไปเกาะช้างจะให้บริการระหว่าง 10.00-14.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงหรือกว่าเล็กน้อย ค่าโดยสารคนละ 100 บาทต่อเที่ยว การเดินทางกลับจะมีเรือออกจากอ่าวใหญ่ทุกวันเวลาประมาณ 8.00 น. เพื่อมารับผู้โดยสารที่จะไปเกาะและมาซื้อหาอาหารและของใช้จำเป็น
หาดทรายบนเกาะช้าง มีหาดทรายหลายแห่งบนเกาะช้าง ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านตะวันตกและทางด้านใต้ของเกาะ
อ่าวใหญ่ เป็นเสมือนศูนย์กลางของเกาะช้าง มีบังกะโลที่พักที่แฝงเร้นอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืนใต้ร่มเงาของต้นสนทะเลและต้นหูกวางอยู่หลายแห่งตลอดแนวชายหาด บังกะโลที่พักเป็นของชาวบ้านที่ปลุกสร้างแบบง่าย ๆ ราคาที่พักค่อนข้างถูกเรียกได้ว่าสมราคา แต่ละบังกะโลจะมีร้านอาหารไว้บริการลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปโดยเฉพาะชาวเยอรมันที่มาพักครั้งละหลาย ๆ วัน จึงไม่แปลกถ้าจะเห็นเมนูอาหารเป็นภาษาเยอรมัน เนื่องจากมีการจัดทำเว็บไซท์แนะนำเกาะช้างเป็นภาษาเยอรมัน
ชายหาดมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตรเศษเป็นหาดทรายขาวที่มีตะกอนสีดำของดินหรือไม้ที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาอาบทาไว้ให้เห็นทั่วหาด มีบรรยากาศที่เงียบ อากาศดี สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ได้สวยมาก มีคลองเล็ก ๆ ติดกับวัดป่าเกาะช้างแบ่งชายหาดเป็น 2 ส่วนเมื่อยามที่น้ำทะเลขึ้น ชายหาดที่ถูกแบ่งด้านทิศเหนือมีความยาวประมาณกิโลเมตรเศษ และด้านทิศใต้มีความประมาณ 800 เมตรไปจดแหลมนางคอย หน้าวัดมีสะพานเทียบเรือทอดลงทะเลใช้เป็นจุดชมวิวชายหาดของอ่าวใหญ่ได้เป็นอย่างดีทีเดียว พ้นชายหาดออกไปเพียงเล็กน้อยทางซ้ายมือจะเห็นกองหินที่มีปลาชุกชุมเป็นที่ชื่นชอบของนักตกปลาและผู้ที่ชื่นชอบการดูประการังน้ำตื้น สุดหาดทรายทางใต้อ้อมแหลมนางคอยไปหน่อยจะมาถึงหาดตาแดง เป็นชายหาดขาวขนาดเล็ก ท่านสามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศยามอาทิตย์อัศดงที่สวยที่สุดบนเกาะช้าง มีบังกะโลที่พักขนาดเล็กให้บริการ
อ่าวไข่หรืออ่าวไข่เต่า เป็นอ่าวที่อยู่ถัดไปทางใต้ของอ่าวใหญ่ต่อจากแหลมนางคอย เป็นบริเวณที่เตรียมสร้างหน่วยพิทักษ์อุทยานของอุทยานแห่งชาติเกาะพยาม
บังกะโลที่พักบนเกาะช้าง ส่วนใหญ่อยู่ที่อ่าวใหญ่ บางแห่งเปิดบริการเฉพาะช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม และหยุดดำเนินกิจการช่วงมีมรสุม เมื่อนั่งเรือมากลางทะเล ไม่สามารถมองเห็นบังกะโล แต่จะเห็นแต่ป่าที่เขียวไปหมด บังกะโลส่วนใหญ่อยู่ริมชายหาดใต้ร่มเงาของต้นสนทะเลและต้นหูกวาง บางแห่งอยู่บนเนินเขาแต่สามารถมองเห็นทะเลได้ชัดเจน บางแห่งอยู่ตามชายป่าต้องเดินเข้าไป บังกะโลมีทั้งแบบมีห้องน้ำในตัว และห้องน้ำอยู่ข้างนอก ภายในห้องพักจะมีเครื่องนอนครบ แต่ยังไม่มี พัดลม สบู่ ราคาของบังกะโล ไม่แพงถ้าเปรียบกับที่พักบนบก ที่เกาะช้างบังกะโลจะถูกมาก ถ้ามีห้องน้ำในตัวราคาประมาณ 200 บาท ถ้าห้องน้ำนอก 180 บาท บางแห่งถูกกว่านี้อีกแล้วแต่ความสะดวกสบายของบังกะโล ประมาณ 100 -150 บาท เท่านั้นและยังขึ้นกับจำนวนวันที่เข้าพักด้วย ซึ่งชาวต่างประเทศจะพักกันนาน ๆ เป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน ๆ
บนเกาะช้างมีร้านอาหารของบังกะโล หลายแห่ง มีการตกแต่งหน้าร้านกันหลากหลายสไตล์ มีทั้งที่จัดได้อย่างดูดี อบอุ่น เยือกเย็น คลาสสิก แขวงด้วยมนต์เสน่ห์ บางแห่งจัดแบบวัยรุ่น ส่วนมากจะตกแต่งด้วยเถาไม้เลื้อย เปลือกหอย ดูแล้วเป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ปลูกไว้บริเวณหน้าร้าน แต่ละแห่งมีรดชาดอาหาร ที่คล้ายๆ กัน มีทั้งอาหารฝรั่งแบบง่าย ๆ อาหารไทย อาหารทะล ขนมหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม อาหารทะเลสด ๆ ที่นึ่ง ทอด ย่าง ดูจะเหมาะสมกับบรรยากาศของเกาะที่เงียบสงบและบริสุทธิ์ อันเป็นเสน่ห์ที่แขกที่มาพักชื่นชอบ ไฟฟ้าที่ใช้จะมาจากการปั่นไฟฟ้าใช้เอง และใช้น้ำบาดาลที่ขุดจากบ่อ บางบังกะโลยังไม่มีไฟฟ้า แต่จะใช้เทียน ดูแล้วเหมาะกับธรรมชาติดี 


ขอขอบคุณ
http://www.thaitravels.net/551
http://asiaranong.com/ranong/main/tour-koh/koh-chang1.html

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกาะสุกรหรือเกาะหมู

เกาะสุกร  หรือ  เกาะหมู 


แปลกแต่จริง! ชื่อ เกาะสุกร หรือ เกาะหมู แต่ประชากรบนเกาะส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น จึงไม่มีการเลี้ยงหมู และไม่มีสุนัข เอ้า...แล้วทำไมถึงชื่อ เกาะสุกร ถ้าอยากรู้คำตอบ พร้อม ๆ กับอยากสัมผัสบรรยากาศท้องทะเลสวย ๆ ความงดงามของภูเขา ทุ่งนา และวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้าน ตามเราไปท่องเที่ยว เกาะสุกร จังหวัดตรัง กันดีกว่า
เกาะสุกร หรือที่เรียกกันว่า เกาะหมู เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ตัวเกาะขนานกับแนวชายฝั่ง และห่างจากฝั่งเพียง 3 กิโลเมตร สภาพตัวเกาะประกอบด้วยภูเขา สวนยางพารา ป่าโกงกาง นาข้าว และทะเล ทำให้ชาวบ้านบน เกาะสุกร มีอาชีพประมง ทำสวนยาง และเกษตรกรรม นอกจากนี้ เมื่อหมดฤดูนาข้าวในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ก็จะเห็นไร่แตงโมพันธุ์หวานแดงอร่อย ออกผลเต็มทั่วท้องทุ่ง เพราะเป็นสินค้าขึ้นชื่อของ เกาะสุกร
ชาวบ้านบน เกาะสุกร ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้บนเกาะไม่มีการเลี้ยงหมู เลี้ยงสุนัข ที่สำคัญไม่มีการจำหน่ายสุราบนเกาะเด็ดขาด! สำหรับที่มาของชื่อ เกาะสุกร นั่นมีเรื่องเล่าหลากหลาย เช่น ในอดีตบนเกาะมีหมูป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งมีชาวประมงกลุ่มหนึ่งซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะ จึงขับไล่หมูป่าออกไปจากเกาะ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนชายฝั่งมองไปเห็นฝูงหมูป่ากำลังว่ายน้ำอยู่ จึงเรียกเกาะนี้ว่า ก่อนจะเปลี่ยนเป็น เกาะหมูเกาะสุกร
และอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า มีเรือสำเภาของเศรษฐีมาจอดที่ปากน้ำ ซึ่งลูกชายของเศรษฐีนับถือศาสนาอิสลาม มาชอบลูกสาวของตายายที่นับถือศาสนาพุทธ และได้อยู่กินกันเป็นเวลานาน ต่อมาเรือสำเภากลับมาที่ปากน้ำ ตายายจึงมาเยี่ยมลูกสาว โดยเตรียมหมูปิ้งไม้เสียบมาให้ลูก แต่ลูกสาวแกล้งจำพ่อแม่ไม่ได้ ตายายโกรธขว้างของทิ้งหมด ทำให้ไม้เสียบหมูปิ้งลอยไปติดเป็นเกาะใหญ่ จึงเรียกชื่อเกาะนี้ว่า เกาะสุกร
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า เกาะสุกร จะมีชายหาดที่ไม่สวยงามเหมือนกับเกาะอื่น ๆ ในจังหวัดตรัง แต่ก็มีกิจกรรมดี ๆ มากมาย ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเที่ยว เกาะสุกร ได้สนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนชายหาด การเช่าเรือไปดำน้ำที่ เกาะเหลาเหลียง และ เกาะตะเกียง เพื่อชมปะการังเจ็ดสี ปะการังนานาชนิด และปลานีโม่ ซึ่งเหมาะสำหรับการศึกษาเรียนรู้เชิงนิเวศน์ทางทะเล
การปั่นจักรยานชมวิวทิวทัศน์และการดำรงชีวิตของชาวบ้าน โดยเส้นทางจะผ่านภูเขา สวนยางพารา สวนมะม่วงหิมพานต์ ป่าโกงกาง ป่าโปร่ง ไร่แตงโม ทุ่งนา ซึ่งเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ควรไปสัมผัส เพราะจะได้ชื่นชมกับบรรยากาศท้องทุ่งนาข้าวเขียวขจี พร้อม ๆ กับสูดความหอมของกลิ่นขวัญข้าวช่วงตั้งท้อง หรือจะแวะเพลิดเพลินกับฝูงวัวควาย ฝูงนกเป็ดน้ำ นกกระยาง นกกวัก ปิดท้ายด้วยไปชมฝูงปูก้ามดาบ ปูหลากสี ฝูงนาก สัตว์ป่าชายเลนก็สามารถทำได้
ทั้งนี้ หากใครสัมผัสชีวิตของชาวสวนยางพารา ก็ไม่ควรพลาดไปชมการกรีดยางในช่วงเช้ามืด และชมกรรมวิธีให้ได้ซึ่งแผ่นยางที่สวยงาม รวมถึงไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น ร้านจำหน่ายผาบาติก เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ และหัดวาดลายผ้าบาติก รวมทั้งกรรมวิธีการย้อมผ้า
บน เกาะสุกร มีที่พักทั้งสิ้น 5 แห่ง ส่วนใหญ่เปิดให้บริการช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและที่พักแบบโฮมสเตย์ ที่ให้บริการโดยชุมชนในราคาที่ไม่แพง และหากต้องการนั่งเรือท่องเที่ยวไปตามเกาะในจังหวัดตรัง ก็สามารถจะเช่าเรือจากท่าเรือบนเกาะได้อีกด้วย
และนี่คือ เกาะสุกร จังหวัดตรัง อีกหนึ่ง สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่ไม่ควรพลาดไปเยือน

การเดินทาง
สามารถนั่งรถตู้สายตรัง-ย่านตาขาว ลงที่ตลาดย่านตาขาว แล้วต่อรถสองแถวสายย่านตาขาว-ปากปรน-แหลมตะเสะ ระยะทาง 47 กิโลเมตร ถึงท่าเรือแหลมตะเสะ หรือใช้เส้นทางตรัง-ปะเหลียน(หลวงหมายเลข 404) เลี้ยวขวาสี่แยกบ้านนาประมาณ 18 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงท่าเรือ ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือหางยาวประมาณ 30 นาที ค่าเช่าเหมาเรือราคา 700 บาท นั่งได้ 10 คน และบนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว


ขอขอบคุณ
http://travel.kapook.com/view25914.html
http://www.hoteldirect.in.th/แหล่งท่องเที่ยว/ตรัง/เกาะสุกรหรือเกาะหมู.htm
http://www.moohin.com/071/071j005.shtmll
http://calvinoli.wordpress.com/2013/02/10/เกาะสุกร-เกาะนี้ไม่มีหมู/

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกาะจำ จังหวัดกระบี่

เกาะจำ  จังหวัดกระบี่



หาดเกาะจำ เป็นหาดที่อยู่ทางตอนใต้สุดของเกาะจำ เป็นชายหาดที่สวยที่สุดของเกาะ และยังมีแนวหาดที่ยาวถึง 5 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเช่ารถจักรยานจากบังกะโลใกล้ ๆ ท่าเรือบ้านเกาะจำ  ปั่นมาเที่ยว จากหาดเกาะจำมีถนนลูกรังที่นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวหาดติงไหร และอ่าวลุโบะได้ด้วย

ที่ตั้ง
บ้านเกาะปู บ้านติงไหร และ บ้านเกาะจำ ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ อยู่ใกล้กับเกาะศรีบอยา
เกาะจำ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเกาะปู เป็นเกาะเล็ก ๆ ประกอบไปด้วยชุมชน 3 หมู่บ้าน ซึ่งประมาณ 80% เป็นชาวประมงขนาดเล็ก บางส่วนมีสวนยาง ค้าขาย หรือรับจ้างกรีดยาง จุดเด่นของเกาะจำ คือ มีชายหาด 3 แห่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะและหลังเกาะ เริ่มจากหัวเกาะด้านทิศเหนือจากท่าเรือบ้านเกาะปูคือ อ่าวลุโบะ ถัดลงมาทางทิศใต้คือ หาดติงไหร และหาดสุดท้ายอยู่ตอนใต้สุดของเกาะคือ หาดเกาะจำ จากชายหาดทั้งสามสามารถชมวิวได้ไกล มองเห็นเกาะพีพี และเกาะต่าง ๆ ในท้องทะเลกระบี่ได้อย่างชัดเจน เช่น เกาะเหลาละ เกาะศรีบอยา นอกจากนี้ยังเป็นจุดตกปลา และชมพระอาทิตย์ตกได้สวยงามอีกด้วย
การท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาที่เกาะจำในราว ๆ 20 ปี ก่อนพร้อม ๆ กับเริ่มมีรีสอร์ทสไตล์บังกะโล โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ที่นิยมบรรยากาศสงบ เป็นส่วนตัว ไม่แออัดพลุกพล่าน ปัจจุบันมีรีสอร์ท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบังกะโลเกือบ 20 แห่ง รวมทั้งบริการท่องเที่ยวทั้งแบบแพ็คเกจทัวร์ เช่าเหมาเรือ เช่ามอเตอร์ไซค์ เคาน์เตอร์รับจองตั๋วเครื่องบินตั๋วเรือ ตั๋วรถ ฯลฯ
การสัญจรบนเกาะจำนั้นค่อนข้างสะดวก เพราะมีถนนลุกรังที่ตัดผ่านจากบ้านเกาะจำไปยังบ้านเกาะปู บางช่วงของถนนจะขนานกับแนวหาด วิวสวยและยังแวะเที่ยวได้สะดวก
อาชีพหลักของชาวบ้านบนเกาะจำนั้นนอกจากจะทำประมงแล้ว ยังมีอาชีพรับกรีดยางด้วย การมาเที่ยวเกาะจำในวันนี้จึงมีทั้งบรรยากาศเที่ยวหาด ชมสวน และวิถีชาวเกาะจริง ๆ

สถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะจำ
หาดเกาะจำ อยู่ในเขตบ้านเกาะจำ ห่างจากท่าเรือบ้านเกาะจำประมาณ 1 กิโลเมตร มีแนวชายหาดที่ยาวเหยียดตรงประมาณ 4 - 5 กิโลเมตร ต่อไปจนถึงหาดบ้านติงไหร นับว่าเป็นชายหาดที่สวยที่สุดบนเกาะจำก็ว่าได้ เพราะมีชายหาดที่กว้าง ยาว ทรายขาวเนียนสะอาด และไม่มีโขดหิน เหมาะแก่การนอนอาบแดด เล่นน้ำ และชมพระอาทิตย์ตกดินได้สวยงาม จากหน้าหาดนี้มีทางเดินเท้าไปถึงชุมชนบ้านเกาะจำ ระยะทางประมาณ 1 - 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 15 - 20 นาที ก็ถึงหมู่บ้านแล้ว
หาตติงไหร อยู่ในเขตบ้านติงไหร เป็นชายหาดที่ค่อนข้างเงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน มีแนวหาดเชื่อมต่อกัน โดยมีโขดหินกั้นระหว่างอ่าวสิง ซึ่งเป็นหาดกว้างยาวประมาณ 500 เมตร และอ่าวช่องกิ่ว ซึ่งเป็นหาดโค้งเว้าครึ่งวงกลม เป็นหาดเดียวที่มีถนนหลักของหมู่บ้านเลียบตลอดแนวโดยฟากหนึ่งเป็นหาด อีกฟากเป็นสวนยางของชาวบ้าน ทั้งอ่าวสิและอ่าวช่องกิ่ว สามารถอาบแดด เล่นน้ำ และชมพระอาทิตย์ตกดินได้
อ่าวลุโบะ อยู่ในเขตบ้านเกาะปู มีแนวชายหาดเชื่อมต่อกันระหว่างอ่าวโละใหญ่ ซึ่งเป็นอ่าวเล็ก ๆ แคบ ๆ มีโขดหิน และยังมีบ่อน้ำจืดธรรมชาติในทะเลใกล้หาด พอเล่นน้ำได้ แต่เหมาะสำหรับเป็นจุดชมวิวจากเนินที่สูงอ่าวลุโบะ เป็นชายหาดสวยงามอีกแห่งของเกาะจำ รูปทรงโค้งเว้ายาวประมาณ 1 กิโลเมตร ลงเล่นน้ำ อาบแดด ชมพระอาทิตย์ตกดินได้อ่าวลุโบะ ห่างจากท่าเรือบ้านเกาะปูประมาณ 500 เมตร มีทางเดินเชื่อมมายังหาดได้
วิถีชีวิตชาวเล - ชาวสวนบนเกาะ เกาะจำประกอบไปด้วยชุมชน 3 หมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ 80% เป็นชาวประมงขนาดเล็ก บางส่วนมีสวนยาง ค้าขาย หรือรับจ้างกรีดยาง บางครอบครัวทำเส้นขนมจีน และมีการทำนาอยู่แห่งเดียวบนเกาะ ชาวประมงที่นี่จะทำลอบและอวนปู - ปลา - ปลาหมึก โดยออกทะเลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม หมู่บ้านเกาะจำส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ ส่วนหมู่บ้านติงไหร หมู่บ้านเกาะปู ส่วนมากเป็นชาวอิสลาม

กิจกรรมท่องเที่ยว
1. เที่ยวชายหาดเกาะจำ - ชมวิถีชีวิตชาวเลชาวสวน กิจกรรมท่องเที่ยวที่ง่ายและประหยัดที่สุดคือ เดินเที่ยวตามชายหาดต่าง ๆ ซึ่งทุกแห่งสามารถลงเล่นน้ำและชมพระอาทิตย์ตกดินได้สวยงาม บรรยากาศชายหาดแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ชอบ แต่หากชอบนอนอาบแดด ขอแนะนำที่หาดเกาะจำ ซึ่งมีหาดทรายขาวเนียนสะอาดเป็นแนวเหยียดตรงยาว หรืออาจจะเลือกเช่าเรือแคนูพายเล่นน้ำหน้าหาดต่าง ๆ ก็ได้ และถ้าขยันหน่อย ขอแนะนำให้เดินเที่ยว ขี่จักรยาน หรือขี่มอเตอร์ไซค์ ชมวิถีชีวิตชาวบ้านบนเกาะจำ ชื่นชมกับบรรยากาศท้องถิ่น ๆ วิถีชาวเล ชาวสวนยาง บ้านเรือน โรงเรียน ชิมขนมและอาหารพื้นบ้าน ซึ่งมีขายตามร้านค้าในชุมชน
2. นั่งเรือตกปลา มีแนวปะการังบริเวณระหว่างเกาะจำกับเกาะพีพี ซึ่งเป็นแหล่งปลาชุกชุม โดยเฉพาะปลามอง ปลาคัง ปลาเก๋า นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเหมาเรือออกไปตกปลา และทำอาหารทะเลสด ๆ รับประทานบนเรือได้ อัตราเช่าเหมาเรือตกปลา เรือตกปลาขนาดใหญ่ (นั่งได้ 7 - 8 คน) ราคาวันละประมาณ 6,000 บาท เรือหางยาว (นั่งได้ 4 - 5 คน) ราคาวันละประมาณ 1,500 บาท ติดต่อเช่าเรือได้ตามรีสอร์ท ต่าง ๆ หรือเช่าเรือชาวบ้านในหมู่บ้าน
 3.  นั่งเรือเที่ยวรอบเกาะจำ และเกาะใกล้เคียง เช่น เกาะศรีบอยา เกาะเหลากา เกาะเหลาละ เกาะไผ่ วันเดียวสามารถเที่ยวได้หลายเกาะ ทั้งเที่ยวรอบ ๆ เกาะหรือไปเดินเล่นตามชายหาดของเกาะต่าง ๆ แวะดำน้ำที่เกาะไผ่ หรืออาจเลือกใช้เวลาเที่ยวทั้งวันอาบแดด เล่นน้ำ ที่เกาะพีพีดอน-พีพีเล และอ่าวมาหยา อัตราเช่าเหมาเรือเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ เรือหางยาววันละ 1,500 บาท (นั่งได้ 7 - 8 คน)

สิ่งอำนวยความสะดวก
บนเกาะจำมีที่พัก ร้านอาหาร เคาน์เตอร์ทัวร์ให้บริการทั้งบริเวณหน้าหาด และในหมู่บ้านโดยรีสอร์ท และบังกะโลมีอยู่เกือบ 20 แห่ง ส่วนมากตั้งอยู่บริเวณหน้าหาดต่าง ๆ ของบ้านเกาะจำ บ้านเกาะปู บ้านติงไหร เช่น จอย บังกะโล ตั้งอยู่หน้าหาดเกาะจำ เป็นบังกะโลขนาด 31 ห้อง บรรยากาศเป็นส่วนตัวไม่แออัด และโรแมนติก เพราะใช้แสงตะเกียงแทนไฟฟ้า ยังสามารถอาบแดด เล่นน้ำ พายแคนู บริเวณหาดซึ่งอยู่หน้ารีสอร์ทได้สะดวก นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารที่รสชาติขึ้นชื่อของเกาะจำให้บริการถึงเที่ยงคืน มีบริการให้เช่าแคนู รับจัดแพ็คเกจทัวร์เที่ยวบริเวณเกาะจำ และเกาะใกล้เคียงบังกะโลมีหลายสไตล์หลายราคาให้เลือก ตั้งแต่กระท่อมไม้ไผ่ ใช้ห้องน้ำรวมราคาคืนละ 100 บาท, ห้องแบบมีห้องน้ำในตัวราคา 200-700 บาท รวมทั้งบ้านสำหรับครอบครัว อ่าวสิ บังกะโล ตั้งอยู่ติดชายหาดอ่าวสิ ในหมู่บ้านติงไหร เป็นบังกะโลขนาด 9 หลัง มีห้องน้ำในตัว ราคาตั้งแต่ 300 - 600 บาท ตัวบังกะโลตั้งอยู่บนเนินสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของหาดได้สวยงามชัดเจน

การเดินทาง
การเดินทางไปเที่ยวเกาะจำ ทำได้ 2 วิธีคือ
1. ขึ้นเรือที่ท่าเรือโดยสาร - ท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ (ท่าเรือคลองจิหลาด) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองกระบี่ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยสามารถนั่งรถสองแถวประจำทางจากตัวเมืองใช้เวลาเดินทางไม่กี่นาทีก็ถึง ค่าโดยสารคนละ 20บาท หรือสามารถเหมารถตุ๊ก ๆ แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้างก็ได้ ท่าเรือนี้มีเรือโดยสารไปเกาะพีพี เกาะลันตา และเกาะจำ โดยใช้เวลาเดินทางไปเกาะจำ ประมาณ 1 ชั่วโมง เรือออกวันละ 2 เที่ยว คือ 08.30 น. และ 10.30 น. ค่าโดยสารสำหรับชาวไทยคนละ 100 บาท และชาวต่างชาติคนละ 300 บาท
2. ขึ้นเรือที่ท่าเรือแหลมกรวด โดยนั่งรถสองแถวโดยสารประจำทางจากตัวเมืองมาลงที่อำเภอเหนือคลอง แล้วต่อรถมาลงที่ท่าเรือแหลมกรวดระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ท่าเรือนี้มีเรือหางยาวโดยสารไปเกาะจำ และเกาะศรีบอยา วันละ 2 เที่ยว ในเวลา 12.00 น. และ 15.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ค่าโดยสารเรือเร็วคนละ 40 บาท และเรือธรรมดาคนละ 30 บาท นอกจากนี้ยังมีเรือเหมาไปเกาะจำอัตราลำละ 500 บาท โดยเรือมาจอดที่ท่าเรือบ้านเกาะปู และท่าเรือบ้านเกาะจำ หรือแวะจอดที่หน้าหาดต่าง ๆ แล้วมีเรือหางยาวตอนมารับนักท่องเที่ยวเข้าสู่รีสอร์ทที่พักริมหาด



ขอขอบคุณ
http://www.krabiall.com/webboard/boardtopic.php?RoomID=1&TopicID=355
http://travel.kapook.com/view21900.html
http://www.klongmuang-เที่ยวเกาะจัม-ที่กระบี่.html/koh-jum-krabi

ขับเคลื่อนโดย Blogger.